'กำจัด' ติ่งเนื้อร้ายแบบไม่เจ็บตัว
ผมสังเกตเห็นว่าข่าวลักษณะคล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ข่าวนักเรียนรวมตัวกันประท้วงขับไล่ผู้บริหารโรงเรียนบ่อยขึ้น โดยมีข้อกล่าวหาหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ มีพฤติกรรมการทำงานที่ ไม่โปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ยักยอกเงินงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างแบบ "แพงเกินจริง" หลายโครงการ ฯลฯ จนทำให้นักเรียนทนพฤติกรรมไม่ไหว ต้องออกมาขับไล่
ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ผู้บริหารแต่ละโรงเรียนผิดจริงหรือไม่ คงต้องตรวจสอบกันไปตามกระบวนการ ...แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ "เชื้อทุจริตคอร์รัปชั่น" แทรกซึมลึกในระดับจิตสำนึก จนไม่รู้สึกว่าเป็นความผิด แต่เป็นสิ่งที่ทำตามๆ กันมา เป็นช่องทางหาประโยชน์จากตำแหน่ง...ถ้ามีโอกาสก็ไม่ควรให้หลุดลอยไป
ในหลายหน่วยงาน ผู้บริหารบางคนเมื่อได้ตำแหน่งมา แม้ตนเองมีสำนึก "ไม่โกง" แต่กลับ "ไม่กล้า" จัดการ จึงทำได้เพียงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือกลัวว่าตนเองจะเดือดร้อน
...ความคิดเช่นนี้ต้องถูก "ทำลาย" ลงเมื่อเร็วๆ นี้ ลูกศิษย์ของผมคนหนึ่ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังถึงการจัดการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมานาน โดยเฉพาะที่เกิดกับฝ่ายพัสดุ ซึ่งทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยผู้บริหารชุดเดิมใช้อำนาจ (แบบลับๆ) กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ไปตกลงกับร้านค้าที่ทางคณะสั่งซื้อสินค้าต่างๆ เป็นประจำ ให้จ่ายค่าคอมมิชชั่นทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อ สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายปี จนกลายเป็นเรื่องปกติ
ที่ผ่านมามีอาจารย์และเจ้าหน้าที่หลายคนไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไร เมื่อ "คนดีไม่มีพลัง" จึงทำอะไรไม่ได้มาก ดังนั้น เมื่อลูกศิษย์ของผมได้เป็นผู้บริหารและตระหนักดีว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นการทุจริตประพฤติมิชอบ ทำให้องค์กรเสียประโยชน์ และเป็นคอร์รัปชั่นที่ต้องเข้าไปจัดการ ...ปล่อยไว้ไม่ได้
วิธีการที่ใช้จัดการกับฝ่ายพัสดุนั้น น่าสนใจและ คิดว่าเป็นประโยชน์ หากผู้บริหารองค์กรที่กำลังคิดอยากจะ "กำจัด" ติ่งเนื้อร้ายแบบนี้ ลองนำไปประยุกต์ดูวางแผน "ปิดโอกาสทำชั่ว" แบบไม่สร้างศัตรู โดยเฉพาะองค์กรที่มีขบวนโกงเหนียวแน่น เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงมาเป็นเวลานาน การใช้วิธีจัดการแบบ "หักดิบ" ใช้ไม้แข็งจึงเป็นการ "สร้างศัตรู" โดยพวกที่เสียประโยชน์
ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าในการจัดการขบวนโกงแบบเนียนๆ เพื่อลดการสร้างความรู้สึกเป็นศัตรู และการต่อต้านอำนาจ จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ อุดช่องโหว่ทุจริตทุกๆ ช่อง ไม่ให้คนทำผิดมีพื้นที่อีกต่อไป อาทิ
รับคนใหม่ทำแทน-น้ำดีผลักน้ำเสีย โดยทีมงานจะทำการคัดเลือกและสอบสัมภาษณ์โดยตรง เพื่อวัดทัศนคติและความตั้งใจจริงที่จะทำงาน จากนั้นจะบอกวัตถุประสงค์ที่รับเข้ามา คือ เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่อย่าง "ถูกต้อง" แทนกลุ่มเดิมๆ โดยสื่อสารชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร และจะจัดการกับการถูกต่อต้านในช่วงแรกๆ อย่างไร
ปรับบทบาทคนเก่า-อยู่ในพื้นที่ไม่มีผลประโยชน์ ส่วนเจ้าหน้าที่กลุ่มที่ประพฤติมิชอบอยู่นั้น ก็ให้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินหรือ ผลประโยชน์ คนเหล่านี้จะรู้สึกถูกขัดใจและอาจขัดขืนในช่วงแรก แต่ผู้บริหารจะพูดคุยให้เกิดการสำนึกว่า การทำเช่นนี้นับว่าเป็นการ "ช่วย" อย่างมาก ถ้าไม่ทำเช่นนี้จะต้องถูกจับผิดและลงโทษถึงขั้นไล่ออกจากงาน เพื่อให้คนเหล่านี้ได้สำนึกผิดในสิ่งที่ตนทำลงไป และกลับตัวกลับใจทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้อง หากต้องการทำงานที่นี่ ต่อไป
เรียกร้านค้ามาพูดคุย-ชี้แจงนโยบายใหม่ นั่นคือ ต่อไปนี้จะไม่มีการจ่ายคอมมิชชั่นอีกต่อไป การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จะจ่ายตามราคาจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกร้านค้า และหากร้านค้าใดไม่ปฏิบัติตามจะยกเลิกการซื้อขายกับร้านนั้นตลอดไป
ประกาศให้ทราบทั่วกัน-ผู้บริหารชุดนี้ยึดมั่นคุณธรรม เพื่อให้คนทำงานมีกำลังใจ ขณะเดียวกันก็เตือนว่า ถ้าใครกล้าที่จะกระทำผิด ประพฤติมิชอบ จะถูกตั้งกรรมการสอบ หากมีหลักฐานอันควรเชื่อถือ จะถูกลงโทษตามกฎระเบียบโดยไม่มียกเว้น ให้เห็นว่าการทำสิ่งที่ถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ
การจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรให้ได้ผลจริง "คนดีในองค์กรนั้นต้องมีพลัง" ต้องมี "อำนาจ"อันชอบธรรมจากตำแหน่งที่เหมาะสม ...ต้องมี "ทีมงาน" คุณภาพที่มีหัวใจเดียวกันที่ต้องการถอนรากถอนโคนทุจริตคอร์รัปชั่น ...ต้องมี "ความกล้า" ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบ ความเคยชินเดิมๆ ที่เป็นอยู่ ...ต้องมี "ความเก่ง" ในการจัดการอย่างมีกลยุทธ์ รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร กับใคร และอย่างไร เพื่อให้เกิดผลดีสูงสุด
การทุจริตในหน่วยงานจะถูกทำลายไปได้อย่างแท้จริงหาก "คนใน" กล้าลุกขึ้นมาทำลายมันด้วยตนเอง...
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
Monday, Mar 09, 2015 03:31
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.pptvthailand.com/content/news/2015-02-11/pKj2IhxyVE.jpeg
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 10 March, 2015 - 17:04
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,502 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,271 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,085 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,488 ครั้ง