โอกาสของไทยเมื่อโลกคลายล็อคดาวน์

ตั้งแต่ปลายปี 2019 โลกได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 อย่างหนัก โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เป็นผลมาจากรัฐบาลทั่วโลกพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจำนวนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกต่อเนื่องจากปี 2020 สูงถึง 7.9 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และมีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นอีก รวมทั้งการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่หลังโควิด และการค้นพบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ความกังวลในติดเชื้อโควิด -19 ลดลงไปอย่างมาก เช่นเดียวกันกับโลก เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เป็นผลมาจากการคลายล็อกดาวน์และการเพิ่มค่าใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐ

ในอนาคตที่จะมาถึง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวรวดเร็วขึ้นอีก หากภาครัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจของไทยมองเห็นและสามารถคว้าโอกาสจากปัจจัยต่าง ๆ

1.โอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิดแตกต่างจากวิกฤตที่ผ่านมาเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นทั่วโลกแทบทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิดจนทำให้แต่ละประเทศต้องใช้นโยบายจำกัดการนำเข้า (Nationalism and Protectionism) จนแทบไม่มีประเทศใดมีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเพราะแม้จีนจะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ปัจจุบันจีนกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในปี 2020 ที่จีดีพีขยายตัวได้ ทำให้เศรษฐกิจของชาติที่เอียงไปเข้ากับจีนมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าชาติอื่น ๆโดยเฉพาะไทยและชาติในอาเซียนจะได้เปรียบจากการฟื้นตัวของจีนมากกว่าประเทศที่เอียงเข้ากับจีนชาติอื่น ๆ เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของทั้งไทย และอาเซียนในขณะที่ผลกระทบจากโควิดของสหรัฐและยุโรปทำให้อาเซียนขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนเช่นเดียวกัน

2. โอกาสจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯและจีนในภูมิภาคเอเชีย 

ที่ผ่านมาจีนได้พยายามแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกโดยเฉพาะการทำยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative,การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure. Investment Bank: AIIB) เพื่อให้เงินกู้สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน,การสร้างความเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งความร่วมมือ China-ASEAN Year of Digital Economy Cooperation, จัดประชุม China-ASEAN Information Harbor รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงด้าน พลังงาน และการค้า เช่น CPTPP, RCEP เป็นต้น

สหรัฐฯ จึงพยายามกีดกันอิทธิพลของจีน โดยให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้นตามยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกด้วยการออกกฎหมายข้อตกลงต่าง ๆ และริเริ่มความร่วมมือเพื่อแข่งขันกับ BRI ของจีนเช่นส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน (Blue Dot Network), ให้เงินกู้แก่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกีดกันไม่ให้สมาชิกอาเซียนเข้าร่วมกับ AIIB และปรับปรุงการเชื่อมต่อระบบดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน

ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ ผลักดันให้จีนต้องสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้นผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การแพทย์ อาเซียนจึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ 2 มหาอำนาจซึ่งไทยจะได้ประโยชน์มหาศาลหากมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจอย่างสมดุล โดยการดึงทั้ง 2 ขั้วอำนาจมาช่วยต่อรองให้ได้รับข้อเสนอ ความช่วยเหลือ หรือเงินกู้ที่มีเงื่อนไขที่ดี

3. โอกาสจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก การกระชากเปลี่ยน (disruption)

เชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการกระชากเปลี่ยนด้านต่าง ๆ ของโลก เช่น เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital transformation) โดยเฉพาะการให้บริการทางไกลอย่างการเรียนออนไลน์การประชุม และทำงานทางไกลและเป็นตัวเร่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ นำระบบอัตโนมัติอย่างหุ่นยนต์ AI มาใช้แทนแรงงานคน โดยเฉพาะการใช้ AI ตรวจสอบและติดตามบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเป็นต้น

สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นโอกาสของไทยในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเนื่องจากสภาพแวดล้อมอยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยให้คนต้องเปลี่ยนแปลง เช่น การผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด(Pandemic Economy) อย่างสินค้าและบริการด้านสุขภาพโดยตรง เช่น แอลกอฮอล์ เครื่องฆ่าเชื้อถุงมือยาง และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และตั้งเป้าเป็นสังคมไร้คาร์บอน (Carbon-Free Society)

4. โอกาสจากการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นผลจากการกระชากเปลี่ยนด้านห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain Disruption)

ผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการ กระจายฐานการผลิตจากจีนสู่อาเซียน เนื่องจาก การแยกห่วงโซ่การผลิตของโลกตะวันตกออกจากจีน (Economic Decoupling) และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระชากเปลี่ยนห่วงโซ่อุปาทาน (supply chain disruption) หรือการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) นอกจากนั้นบริษัทข้ามชาติต้องใช้ยุทธศาสตร์ ‘China Plus One Strategy’ เพื่อกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้การจัดการห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นจึงเป็นโอกาสของไทยและอาเซียนในการเป็นฐานการผลิตจากจีน ซึ่งไทยมีคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซียที่ต้องคำนึง

ยิ่งสถานการณ์คลี่คลายลงมากเท่าไหร่ ธุรกิจที่เห็นโอกาสและเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ย่อมกุมความได้เปรียบกว่า โอกาสต่อไปผมจะเสนอกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับธุรกิจส่วนใหญ่และเศรษฐกิจของประเทศไทยครับ

 

แหล่งที่มา : mixmagazine.in.th 
4 พฤษภาคม 2564 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : https://www.mixmagazine.in.th/media/images/upload/files/00005147/1620127072_111.jpg 

https://www.mixmagazine.in.th/media/images/upload/files/00005147/1620126548_Screen%20Shot%202564-05-04%20at%206.05.09%20PM.png 

https://www.mixmagazine.in.th/media/images/upload/files/00005147/1620127086_image1.jpeg 

https://www.mixmagazine.in.th/media/images/upload/files/00005147/1620127139_image2.jpeg