วิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ดบูรณาการวิชาการและการปฏิบัติสู่ชั้นเรียน
ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับการบูรณาการวิชาการสู่การปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ ในที่นี้รวมถึงการเรียนการสอนทางด้านวิชากฎหมายของวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ดมีคณาจารย์เต็มเวลาอยู่ทั้งหมด 100 คน และคณาจารย์พิเศษมากกว่า 150 คน แต่ละปีวิทยาลัยกฎหมายแห่งนี้มีนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อประมาณ 1,990 คน การเรียนการสอนของวิทยาลัยแห่งนี้มีความเข้มข้นอย่างมาก นักศึกษาต้องเรียนและทำงานอย่างหนัก แต่แม้จะเป็นเช่นนั้นนักศึกษายังคงจัดสรรเวลาสำหรับการทำกิจกรรมเพิ่มเติมประสบการณ์ภายนอกด้วยเช่นเดียวกัน บรรยากาศการเรียนการสอนเช่นว่านี้มีส่วนสำคัญต่อการช่วยบ่มเพาะหล่อหลอมนักศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพครบถ้วนทุกด้าน
ปัจจุบันวิทยาลัยแห่งนี้มีการเปิดสอนรายวิชาต่าง ๆ มากกว่า 400 วิชาและยังมีการประชุมสัมมนากลุ่มย่อยอีกจำนวนมาก การเรียนการสอนและการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อยดังกล่าวนี้ช่วยให้นักศึกษามีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ทั้งกับคณาจารย์และนักศึกษาด้วยกันเองภายในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายในอนาคต อาทิ ทักษะการคิด ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร โดยชั้นเรียนต่าง ๆ ของวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ดถูกออกแบบให้มีบรรยากาศที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาด้วยกันเอง จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่สำคัญของวิทยาลัยแห่งนี้
นอกจากการให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนและการเรียนรู้แบบกลุ่มย่อยแล้ว วิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ด ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ บูรณาการวิชาการและการปฏิบัติเข้าด้วยกัน อาทิ
การประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกการแก้ปัญหาทางกฎหมาย โดยนักศึกษาปี 1 ของวิทยาลัยฯ ทุกคนจะต้องเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดให้มีในช่วงการศึกษาภาคฤดูหนาวดังกล่าวนี้ อันเป็นการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างการศึกษาทางวิชาการกับการปฏิบัติเข้าด้วยกัน โดยนักศึกษาปี 1 ทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมจะได้รับการฝึกให้เชื่อมโยงความรู้ทางด้านกฎหมายเข้ากับการตัดสินใจในภาคปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จะมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ดเป็นผู้ดูแลและมีการมอบหมายงานกลุ่มให้นักศึกษาทำ อันเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้การเรียนการสอนทางด้านกฎหมายของวิทยาลัยแห่งนี้มีความตื่นเต้นและน่าสนใจมากขึ้น
การเรียนรู้โดยการใช้กรณีศึกษา ปัจจุบันวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ดมีหน่วยงานที่เรียกว่า โปรแกรมกรณีศึกษา (Case Studies Program) ทำหน้าที่ผลิตกรณีศึกษาสำหรับใช้ในวิทยาลัยกฎหมายทั้งหมด กรณีศึกษาที่ผลิตขึ้นมาดังกล่าวนี้มีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนการสอนของคณาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งในที่นี้นอกจากวิธีการเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษาจะเป็นการเชื่อมโยงนักศึกษาให้เข้าสู่การตัดสินใจในสถานการณ์จริง ทำให้นักศึกษาได้มองเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ และฝึกทักษะคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาให้แก่นักศึกษาแล้ว ยังทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนในชั้นเรียนมีความสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง
ในที่นี้ในพิธีรับปริญญาครั้งที่ 364 (364th commencement) ที่ผ่านมา มีบัณฑิตที่จบจากวิทยาลัยกฎหมายแห่งฮาร์วาร์ดทั้งหมดจำนวน 761 คน แบ่งเป็นบัณฑิตปริญญาโททางกฎหมาย (Master of Laws) 167 คน บัณฑิตปริญญาเอกทางกฎหมายสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพทางด้านการศึกษาวิชากฎหมาย หรือที่เรียกว่า Doctor of Juridical Science 8 คน และบัณฑิตปริญญาเอกทางกฎหมาย (Doctor of Law) อีก 586 คน บัณฑิตเหล่านี้ถูกคาดหวังว่าจะเข้าไปเป็นผู้นำดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยการสัมผัสประสบการณ์จริงและผ่านประสบการณ์ตรงหลากหลายรูปแบบ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ลึกซึ้งในสิ่งที่เรียน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในภาคปฏิบัติ อาทิ การใช้กรณีศึกษาเป็นตัวแบบในการสอน การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทำงานกับคณาจารย์ การตั้งโจทย์ปัญหาให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบ การมอบหมายให้ผู้เรียนทำโครงงานระหว่างเรียน เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยควรจัดการกำหนดสัดส่วนวิธีการเรียนการสอนในชั้นเรียนทุกคณะ อาทิ คณะนิติศาสตร์กำหนดให้ใช้วิธีการเรียนการสอนโดยการปฏิบัติกับวิธีการเรียนการสอนแบบปกติคิดเป็นร้อยละ 50:50 เป็นต้น อันจะทำให้การเรียนการสอนมีส่วนช่วยเสริมสร้างผู้เรียนให้มีทั้งความรู้และทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 62 ฉบับที่ 42 วันที่ 6-9 กรกฎาคม 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://lawclinix.co.za/.cm4all/iproc.php/Legal%20scale.jpg/downsize_1280_0/Legal%20scale.jpg
Catagories:
Post date:
Wednesday, 8 July, 2015 - 16:01
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,475 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,307 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,223 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,050 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,457 ครั้ง