แนวโน้มภัยคุกคามของการก่อการร้ายโลก

     ตลอดปี 2559 มีเหตุการณ์ความรุนแรงและการก่อการร้ายที่สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ล่าสุดคือ การก่อการร้ายในบริเวณใกล้เคียงกับสนามกีฬาเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 166 คน ซึ่งผมขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้

     เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายที่มีศักยภาพสูงซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสที่ทำสงครามกลางเมืองอยู่กับฝ่ายรัฐบาลซีเรีย ซึ่งมีความเชื่อว่าแต่ละฝ่ายต่างมีมหาอำนาจคอยหนุนหลัง สงครามในซีเรียได้ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนทำให้เกิดความกังวลว่า หากสงครามยังไม่ยุติอาจลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ในที่สุด
     จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งมากขึ้น เราทุกคนจึงควรตระหนักและรับรู้ว่าภัยคุกคามของการก่อการร้ายในโลกมีแนวโน้มและรูปแบบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้เกิดความระมัดระวังและความเข้าใจมากขึ้นถึงสถานการณ์การก่อการร้ายทั่วโลก บทความตอนนี้ ผมจึงขอนำเสนอ แนวโน้มภัยคุกคามของการก่อการร้ายระดับโลก ดังต่อไปนี้
     1.การก่อการร้ายจะอยู่ในรูปของสงครามศาสนาและอุดมการณ์ (Religious and Ideological Terrorism) 
     การก่อการร้ายในรูปแบบของสงครามศาสนา เป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญในเชิงนโยบายมากขึ้น นับตั้งแต่การโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเลบานอน ตุรกี อียิปต์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และอินโดนีเซีย โดยกลุ่มก่อการร้ายที่อ้างอุดมการณ์ทางศาสนาไม่ใช่เพียงศาสนาใดศาสนาหนึ่งแต่จุดโฟกัสจะอยู่ที่ Jihadi Terrorism
     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มไอเอสที่ยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญ เพราะกลุ่มไอเอสมีประเทศซีเรียและอิรักเป็นฐานที่มั่นในการปฏิบัติการ และมีการเผยแผ่อุดมการณ์ มีโครงสร้างแบบกระจายอำนาจ ทำให้สามารถหาสมาชิกและสร้างแรงจูงใจในการก่อการร้ายให้กับผู้ก่อการร้ายได้ทั่วโลก อีกทั้งยังสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอื่นที่มีอุดมการณ์สร้างรัฐอิสลามเหมือนกัน
     ความเสี่ยงและผลกระทบจากการก่อการร้ายในรูปของสงครามศาสนามีความเสี่ยงและผลกระทบสูง เพราะป้องกันได้ยาก ผู้ก่อการร้ายอาจไม่เคยมีประวัติติดต่อกับกลุ่มไอเอสมาก่อน กลุ่มไอเอสยังเป็นขบวนการที่มีศักยภาพสูงสามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง 
     มากยิ่งกว่านั้น การตัดสินใจเข้าจัดการกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียอย่างเบ็ดเสร็จ อาจทำให้เกิดการตอบโต้จากกลุ่มก่อการร้ายรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้นโยบายของโดนัล ทรัมป์ ที่จะจัดการกับกลุ่มไอเอสอย่างสิ้นซาก รวมถึงหากมีการห้ามมุสลิมเข้าประเทศตามที่หาเสียงไว้จริง อาจก่อให้เกิดการตอบโต้กลับโดยการก่อการร้ายในสหรัฐฯ มากขึ้นและหากนโยบายประเทศอื่นๆจะมีลักษณะเดียวกับทรัมป์เพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มอาณาเขตความขัดแย้งได้
     2.การก่อการร้ายจะเป็นแบบโฮมโกรว์นหรือโลนวูล์ฟ (Home grown terrorist or Lone wolf)
     โฮมโกรว์นและโลนวูล์ฟ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการก่อการร้าย ที่พัฒนาการจากคนในชาติตนเองที่ซึมซับคำสอนและอุดมการณ์ของกลุ่มก่อการร้าย หรือบางคนมีความเกลียดชังสภาพสังคมที่ตนดำรงอยู่ จนกลายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงขึ้นในประเทศของตนเอง เช่น เหตุการณ์ระเบิดในงานบอสตัน มาราธอน ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2556 ซึ่งสองพี่น้องมือวางระเบิดเป็นคนสัญชาติอเมริกัน หรือเหตุการณ์ใช้อาวุธบุกเดี่ยวร้านช็อกโกแลตคาเฟ่ จับตัวประกันในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2557 ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุเป็นคนที่อาศัยและทำงานอยู่ในออสเตรเลียมาเป็นเวลานาน
     การโจมตีโดยโลนวูล์ฟทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศตะวันตก คิดเป็นร้อยละ 70 ของการตายที่เกิดจากการก่อการร้ายในประเทศตะวันตก นับตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งไม่ได้เกิดจากรากฐานความเชื่อของศาสนาอิสลามเป็นประเด็นหลัก แต่ร้อยละ 80 ของการโจมตีโดยโลนวูล์ฟมาจากสาเหตุที่ผสมผสานกันระหว่างผู้นิยมลัทธิขวาจัด (Right Wing Extremists) ผู้นิยมลัทธิชาตินิยม (Nationalists) การต่อต้านรัฐบาล (Anti-government elements) และลัทธิหัวรุนแรงทางการเมืองประเภทอื่นๆ 
     ทั้งนี้ แนวโน้มการโจมตีโดยโลนวูล์ฟจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของขบวนการก่อการร้ายในการแสวงหาแนวร่วม การฝึกผู้ก่อการร้ายและการโฆษณาชวนเชื่อ สามารถดำเนินการผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ก่อการร้ายอิสระสามารถเข้าถึงความรู้และประสบการณ์การก่อการร้ายได้จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มีประสบการณ์ทั่วโลกผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ 
     นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าร่วมสู้รบกับกลุ่มไอเอสอาจเดินทางกลับมาก่อเหตุในประเทศของตนเอง โดยมีการประมาณการณ์ว่า มีคนต่างประเทศเดินทางเข้าร่วมสู้รบในอิรักและซีเรีย 25,000 ถึง 30,000 คนจาก 100 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 (ตัวเลขนับถึงครึ่งแรกของปี 2558) เป็นนักรบจากยุโรปร้อยละ 21 และจากประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือร้อยละ 50  
     ความเสี่ยงและผลกระทบจากการก่อการร้ายของโลนวูล์ฟมีความเสี่ยงสูง เพราะป้องกันได้ยาก แต่การโจมตีมักจะไม่ส่งผลกระทบระยะยาว เนื่องจากตัวผู้ก่อการร้ายมีศักยภาพต่ำ เพราะทำเพียงลำพัง ไม่ได้ทำเป็นขบวนการ และไม่สามารถทำอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสสูงที่จะถูกจับกุมได้
     3.ความรุนแรงและความแนบเนียนของการโจมตีจะเพิ่มสูงขึ้น
     การวิจัยพบว่า หากประเทศหนึ่งๆ มีอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมร้อยละ 1 จำนวนการก่อการร้ายแบบฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ซึ่งอธิบายได้ว่า ในประเทศที่ร่ำรวยขึ้น จะมีระบบป้องกันการก่อการร้ายที่ดีขึ้น การก่อการร้ายเป็นไปได้ยากขึ้น ทำให้การโจมตีแบบพลีชีพ (Suicide Attacks) จะถูกใช้มากขึ้น และประชาชนผู้บริสุทธิ์จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีมากขึ้น เพราะมีความสามารถในการป้องกันตนเองต่ำกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ 
     แนวโน้มการก่อการร้ายในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ก่อการร้ายจะใช้วิธีการโจมตีที่รุนแรง แต่ตรวจจับได้ยากมากขึ้น เช่น การระเบิดพลีชีพ (Suicide Bomb) การขับรถบรรทุกเข้าชนฝูงชนในเมืองนิส ประเทศฝรั่งเศส การใช้อาวุธที่ไม่ปกติที่ไม่สามารถตรวจจับได้เหมือนอาวุธทั่วไป เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ อาวุธรังสี เป็นต้น
     ความเสี่ยงและผลกระทบจากการก่อการร้ายในลักษณะนี้ พบว่า ความรุนแรงของผลกระทบจะเพิ่มมากขึ้น ตามขนาดความรุนแรงของการโจมตี ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ค่อนข้างสูง แต่ผลกระทบมักเป็นระยะสั้น เพราะไม่สามารถทำได้บ่อยครั้ง
     ผมหวังว่า แนวโน้มภัยคุกคามการก่อการร้าย จะทำให้เราทุกคนเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะไม่ว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายจะเกิดขึ้นประเทศใด ย่อมส่งผลต่อประเทศไทยไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ
     ดังนั้น อย่าเพิกเฉยต่อสิ่งที่ดูเหมือนอยู่ไกลตัว เพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่า สิ่งที่อยู่ไกลตัวอาจจะขยับเข้ามาอยู่ใกล้ตัวเมื่อใดก็ได้

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ