รัฐมนตรี เป็น ส.ส. ด้วย ดีหรือไม่?
ปัญหาหนึ่งที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ได้แก่ การให้ ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อนายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่ถูกปรับเปลี่ยน ไม่ได้ดำรงตำแหน่งต่อไป ย่อมกลายเป็นเหมือนผู้ที่เว้นว่างทางการเมืองไปโดยปริยาย
ที่สำคัญ การพ้นตำแหน่ง ส.ส.ของรัฐมนตรีกลายเป็นช่องทางการจัดการทางอำนาจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาล และหลายครั้งกลายเป็นการกลั่นแกล้งกันได้เช่นที่เป็นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณสมัยแรก (2544-2548) ซึ่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีถึง 10 ครั้ง และมีรัฐมนตรีหลายท่านที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. หรือมิเช่นนั้นก็จะให้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจใด ๆ
หากพิจารณาตามหลักการการเป็นตัวแทนประชาชนของ ส.ส. ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้แทนให้มาทำหน้าที่แทนตน และควรดำรงตำแหน่งจนครบวาระการเลือกตั้ง ไม่ควรพ้นสภาพ ส.ส.ได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ยิ่งไม่สมควรได้รับการถูกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง
ในมุมหนึ่ง ส.ส.จึงไม่ควรที่จะพ้นจากตำแหน่งอย่างไม่สมควร แม้จะพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ย่อมมิใช่เรื่องเสียหายหากจะให้กลับมาทำหน้าที่ ส.ส. ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง หากพิจารณาตามบทบาทหน้าที่แล้ว ย่อมสมเหตุสมผลที่รัฐมนตรีไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ด้วยในขณะเดียวกัน
ดังนั้น ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้สมดุลในภาคปฏิบัติและสอดคล้องกับหลักการ จึงเสนอว่า ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.อย่างถาวร แต่จะถูก ldquo;จำกัดอำนาจrdquo; โดยไม่มีสิทธิหน้าที่ของ ส.ส.ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ยังคงมีฐานะเป็น ส.ส. อยู่ตามกฎหมาย เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีและเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง ก็สามารถกลับเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.เช่นเดิมได้
ขณะเดียวกัน หากเป็นไปในแนวทางนี้ เสนอว่า ไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มจำนวน ส.ส. เพื่อทดแทน ส.ส.ที่ต้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีให้ครบจำนวน แต่ให้คงไว้ในสภาพเช่นเดิม เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องให้มีจำนวน สส เต็มเท่าเดิม จำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ยังสามารถทำหน้าที่ได้ อีกทั้ง เป็นการตัดปัญหาความยุ่งยากและการเสียงบประมาณเพื่อเลือกตั้งใหม่
ถึงกระนั้น อาจมีการเกรงว่า การทำเช่นนี้จะทำให้เสียงของฝ่ายรัฐบาลลดน้อยลง เพราะต้องเป็นรัฐมนตรีถึง 35 คน หากไม่มีการเชิญคนนอกเลย นั่นหมายความว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเสีย ส.ส.ที่สนับสนุนไปถึง 35 เสียง ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพในการบริหารประเทศได้ ยิ่งหากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค มีโอกาสขาดความเป็นเอกภาพได้ง่าย การมีเสียงน้อยลงยิ่งทำให้โอกาสที่เสียงโหวตแพ้ฝ่ายค้านมีมากขึ้น เมื่อต้องลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนอาจเป็นเหตุให้ต้องมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
ข้อกังวลดังกล่าวอาจไม่เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาคปฏิบัติจริง เมื่อฝ่ายรัฐบาลทราบข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ย่อมแสวงหาวิธีที่จะรวมกลุ่มเพื่อให้ได้เสียงฝ่ายรัฐบาลที่มีจำนวนมากพอจนมั่นใจว่าฝ่ายตนนั้นมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะต้องเสีย ส.ส.จำนวนหนึ่งไปชั่วคราวเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะในฐานะฝ่ายรัฐบาลย่อมต้องมีหลักประกันความมั่นคงแห่งนิติฐานะ โอกาสที่เสียงฝ่ายรัฐบาลจะน้อยจนขาดเสถียรภาพ ในความเป็นจริงมีความเป็นไปได้น้อย
ในประเด็นนี้ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงอย่างสมดุล ทั้งในเรื่องของการที่ ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ควรพ้นจากตำแหน่งไปอย่างไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายบริหารย่อมไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ ส.ส.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทางออกจะเป็นเช่นไร จะเหมาะสมหรือเปิดช่องโหว่ใดอีกหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
Tags:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์สยามนิวส์
เมื่อ:
2007-04-16