โจทย์สุดหิน : ขยับเงินออมครัวเรือน

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2548 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1-4.6 จากเดิมร้อยละ 4.6-5.1 ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี นอกจากนี้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการออมภาคครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 ของจีดีพีในแต่ละปี หรือ ประมาณแสนล้านบาทในแต่ละปีเมื่อรวมกับการออมภาคบังคับที่กระทรวงการคลังเร่งให้มีผลบังคับใช้

ปัจจุบันการออมรวมอยู่ในระดับร้อยละ
30-35 ต่อจีดีพี แต่สัดส่วนการออมภาคครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3-4 จากในอดีตที่เคยสูงถึงร้อยละ14.4 เมื่อปี 2532 ส่วนที่เหลือเป็นการออมของภาคเอกชนและภาครัฐ มาตรการกระตุ้นการออมภาคครัวเรือนของรัฐบาลเป็นโจทย์ที่ยากชนิดที่เรียกว่าหินที่สุด

ด้วยเหตุที่ คนฝากเงินไม่มีแรงกระตุ้นให้ออม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไม่มีทีท่าว่าลดลง
โดยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และเดือนสิงหาคมขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ยังทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.75 และเงินฝากประจำ 3 และ 6 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ย RP 14 วัน ร้อยละ 2.75 ก็ตามแต่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ขยับดอกเบี้ยขึ้นตาม

นอกจากนี้ ครัวเรือนที่เป็นหนี้จะมีรายจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดในปี 2547 ครัวเรือนไทยมีหนี้เฉลี่ย 103,940 บาทต่อครัวเรือน สามารถคำนวณอย่างง่าย ๆ ว่า หากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 รายจ่ายจะเพิ่มขึ้นอีก 1,039 บาท ดังนั้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงเล็กน้อยจะกระตุ้นการออมได้ไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลบอัตราเงินเฟ้อยังติดลบ หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ

ปัจจัยการออมที่สำคัญที่สุดคือรายได้ แม้รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ แต่มาตรการดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปอีก ดังนั้นผลกระทบของเงินเฟ้อจึงหักล้างกับรายได้ที่เป็นตัวเงิน การขึ้นค่าจ้างจึงแทบไม่มีผลต่อรายได้ที่แท้จริง

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรระวัง คือ อัตราเงินเฟ้อต้องควบคุมไม่ให้สูงจนเป็นอันตราย และควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือนไม่ให้ขยายเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมการให้สินเชื่อผ่านบัตรเครดิต

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-09-06