?เอกภาพบนความหลากหลาย? ค่านิยมที่ต้องสร้างในเด็กไทย

สังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มคน เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงความขัดแย้งที่ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เช่น ชนกลุ่มน้อยในประเทศ คนที่มีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน เป็นต้น ความขัดแย้งบางประเด็นได้นำไปสู่ความรุนแรง การสร้างความเกลียดชังอีกฝ่าย ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผ่านไปถึงเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดการเลียนแบบและอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในสังคมหนึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะรากของปัญหาส่วนใหญ่มาจากความขัดแย้งทางความคิด และความต้องการระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ในต่างประเทศจึงได้มีความพยายามที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจ และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างสันติบนความแตกต่างที่หลากหลาย ดังนี้

ฟิลิปปินส์: การเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มที่แตกต่าง เนื่องจากมีปัญหาความแตกต่างทางศาสนา มีการต่อต้านและไม่ไว้ใจกัน จึงเกิดโครงการ Peace Education เป็นโครงการการศึกษาเพื่อการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขทัศนคติที่ไม่ดีระหว่างคนทั้งสองศาสนา โดยมีกลุ่มประชาสังคมทั้ง 2 ศาสนาเป็นอาสาสมัครช่วยกันสอนนักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา การเรียนการสอนในหนึ่งชั้นเรียนจะมีนักเรียนทั้งสองฝ่ายเรียนและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาว

เกาหลีใต้: การพัฒนาทักษะการคิดเชิงเหตุผลและการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ได้จัดให้มีหลักสูตรที่ให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล และเกิดการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่น โดยสอดแทรกเข้าไปในทุกวิชาที่สอนและในทุกระดับชั้น เช่น จิตสำนึกการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย การเคารพกฎหมายบ้านเมือง และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล หน้าที่การเป็นพลเมืองโลก สันติภาพ ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง และปลูกจิตสำนึกในเรื่องเมตตาธรรมและมนุษยธรรมในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยในห้องเรียนจะใช้การอภิปรายและยกกรณีตัวอย่าง เพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์หาความจริงตามหลักเหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่า คนจำนวนมากยังไม่ได้รับการปลูกฝังความคิดและจิตสำนึกในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากเพียงพอ ดังตัวอย่างที่พบกันโดยทั่วไปคือ เมื่อใครคิดเห็นต่างจากตนเองจะถูกมองว่าเป็นศัตรูและหลายครั้งก่อให้เกิดการวิวาทกัน ทั้งในแวดวงการเมือง หรือแม้กระทั่งแวดวงวิชาการหลายครั้งพบว่า เมื่อนโยบายหรืองานของตนถูกวิพากษ์ ผู้เป็นเจ้าของงานอาจแสดงความโกรธ ละเลยไม่สนใจข้อเสนอแนะ บางครั้งยังตอบโต้ด้วยคำพูด หรือตั้งสมญานามผู้ที่ออกมาวิพากษ์ ในเชิงการประจานต่อสังคม

จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการศึกษาไทย ควรวางรากฐานการอยู่ร่วมกันอย่างสันติผ่านการปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีค่านิยมยอมรับความแตกต่างโดยไม่แตกแยก นอกจากนี้ผู้ใหญ่ในสังคมควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเห็นคุณค่ากันและกัน ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ถกเถียงกันด้วยการใช้เหตุผล เพื่อหาทางออกที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการสร้างสังคมใหม่ในอนาคต ที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขแม้มีความแตกต่างกัน และสามารถนำเอาความแตกต่างมาใช้ในทางสร้างสรรค์ ให้ประเทศได้รับการพัฒนามากขึ้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-07-09