คิดให้ดี เรียนฟรีจะไปรอด?



ที่มของภาพ http://rizkisaputro.files.wordpress.com/2008/02/raila-odinga.jpg
กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 49 บัญญัติว่า ldquo;บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายrdquo; ข้อความเดียวกันนี้ บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 10 ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่จัดเตรียมงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับการจัดการเรียนฟรีแต่อย่างใด จึงส่งผลให้การดำเนินงานไม่มีความชัดเจน รัฐบาลอาศัยเพียงเงินอุดหนุนรายหัวที่จัดสรรให้ผู้เรียนทุกคน ซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากเงินอุดหนุนที่รัฐได้จัดสรรให้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา ดังนั้น สถานศึกษาหลายแห่งจำเป็นต้องระดมทรัพยากรจากผู้ปกครอง จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าการศึกษาไม่ฟรีจริง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หาทางออกโดยอนุญาตให้สถานศึกษาสามารถจัดเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการศึกษานอกหลักสูตรได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่รัฐต้องจัดสรรให้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ในต่างประเทศที่มีนโยบายเรียนฟรี ประสบกับปัญหาคล้ายคลึงกัน อาทิ สาธารณรัฐเคนยา ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.2008 ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 คือ นายมไว คีบาคี (Mwai Kibaki) ได้ประกาศนโยบายเรียนฟรีระดับมัธยมศึกษา เพิ่มเติมจากระดับประถมศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวยากจนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเคนยาอาจต้องคิดหนักในการดำเนินนโยบายดังกล่าว เนื่องจาก
นโยบายเรียนฟรีระดับประถมศึกษายังประสบปัญหา ก่อนหน้านี้ นโยบายเรียนฟรีนำมาใช้ในระดับประถมศึกษา โดยภายหลังที่นายมไว คีบาคีได้รับเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อปี ค.ศ.2002 ภายใต้นโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้เฉพาะค่าเล่าเรียน ในส่วนของผู้ปกครองต้องรับผิดชอบค่าอาหารกลางวันและชุดผู้เรียน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการดำเนินโครงการ 7 เดือน รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาเพียง 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมดที่สถานศึกษาควรได้รับ
ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งจำใจจัดการเรียนการสอนภายใต้งบประมาณที่จำกัด ขณะที่อีกหลายแห่งเลือกไม่ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลและเก็บค่าเล่าเรียนเหมือนเดิม บางแห่งเรียกร้องให้ผู้ปกครองจ่ายเงิน 1,300 เหรียญสหรัฐต่อปี และมีสถานศึกษาที่ต้องกู้หนี้ยืมสิน อาทิ โรงเรียน Kyanguli Memorial School ครูใหญ่ออกมากล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสัญญาว่าจะจัดสรรงบประมาณให้ทั้งหมด 95,861 เหรียญสหรัฐ แต่ทุกวันนี้รัฐบาลจัดสรรให้เพียง 19,354 เหรียญสหรัฐ งบประมาณที่ขาดไปกว่า 77,000 เหรียญสหรัฐ โรงเรียนต้องกู้ยืมและยังไม่สามารถชำระหนี้สินดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรีระดับมัธยมศึกษาจึงเป็นความท้าทายมาก
ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม Kithangaini Secondary School ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมในจังหวัดแถบภาคตะวันออกของประเทศเคนยา กล่าวว่า โรงเรียนมีจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ.2008 มีผู้เรียนมัธยมศึกษาถึง 3 แสนคน นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการรองรับผู้เรียน จึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้เพียงพอหรือไม่
นโยบายเรียนฟรีต้องเผชิญกับการบีบคั้นทางการเงิน เมื่อต้นปี ค.ศ.2008 เกิดความรุนแรงภายหลังการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ 27 ธันวาคม ค.ศ.2007 ซึ่งผลการเลือกตั้ง นายมไว คีบาคี ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งทันที แต่พรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดยนายไรลา โอติงกา (Raila Odinga) ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว จึงนำไปสู่ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,500 คน และเศรษฐกิจในเคนยาซบเซาอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อยุติความรุนแรงที่ดำเนินไปกว่า 2 เดือน เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 นายมไว คีบาคี และนายไรลา โอติงกา ได้ลงนามข้อตกลงก่อตั้งรัฐบาลผสมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน โดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และประธานาธิบดีแทนซาเนียเป็นสักขีพยาน ซึ่งรัฐบาลผสมครั้งนี้ มีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 42 คน เป็นหุ้นส่วนอำนาจที่ต้องใช้งบประมาณพิเศษถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงจำเป็นต้องดึงงบประมาณจากนโยบายอื่น ๆ อาทิ การแพทย์และสาธารณสุข การสร้างถนน การศึกษา และการคลัง ซึ่งนโยบายเรียนฟรีระดับมัธยมศึกษาเป็นหนึ่งในโครงการที่จะได้รับผลกระทบ
เหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้ไม่รุนแรงจนกระทบถึงการอุดหนุนการศึกษาเช่นเดียวกับความรุนแรงในเคนยา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายเรียนฟรี จะประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ จนกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ผมจึงเสนอว่า รัฐบาลไทยควรจัดสรรงบประมาณในรูปแบบใหม่ โดยจัดสรรงบประมาณตามคุณภาพและประสิทธิภาพของโรงเรียน โดยกำหนดตัวชี้วัดด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อนำมาวัดและจัดกลุ่มสถานศึกษาว่ามีคุณภาพและประสิทธิภาพระดับใด แล้วจัดสรรงบประมาณตามสภาพของสถานศึกษา นอกจากนี้ ควรจัดสรรตามความสามารถในการจ่ายของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนฐานะดีมีส่วนจ่ายค่าเล่าเรียนเอง ผู้เรียนฐานะยากจนควรได้รับการอุดหนุนมากกว่า ซึ่งทำให้การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงสถานศึกษาและผู้เรียนที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
* นำมาจากหนังสือพิมพ์บทความสยามรัฐ(ศึกษาทรรศน์)ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-08-16