ฐานของความกินดีอยู่ดีของประเทศ


แหล่งที่มาของภาพ : http://khaosarnboston.com/wp-content/uploads/2013/12/woman-preparing-thai-food-at-floating-market.jpg

 

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

ประชากรหลายล้านคนในโลกยังคงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เนื่องจากปัญหาความยากจน การขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ประชากรในหลายประเทศต้องเผชิญภาวะสงครามจนต้องกลายเป็นผู้อพยพ

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าสัดส่วนของประชากรที่ยากจน (ความยากจนแบบสัมบูรณ์) มีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาการกระจายรายได้กลับไม่ดีขึ้น (ความยากจนแบบสัมพัทธ์) ประชาชนส่วนหนึ่งจึงยังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ในขณะที่สังคมไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

การสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศจึงไม่ใช่เพียงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องสร้างรากฐานของความกินดีอยู่ดีของประเทศให้มั่นคง ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังต่อไปนี้


ประการแรก ฐานความมั่นคงทางอาหาร

การสร้างฐานความมั่นคงทางอาหารมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนไม่อดอยาก หรือต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในการหาอาหารประทังชีวิต รวมทั้งไม่เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร หรือมีชนชั้นใดในสังคมที่อดอยาก ถึงแม้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก แต่มีความเสี่ยงที่จะขาดความมั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจทำให้ภาคเกษตรมีขนาดเล็กลง ทำให้แรงงานและที่ดินภาคเกษตรถูกโอนย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น การที่แรงงานอยู่นอกภาคเกษตรมากขึ้นทำให้ขาดเบาะรองรับทางสังคมเหมือนกับสังคมเกษตรกรรม การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้สินค้าเกษตรของไทยมีแนวโน้มไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าประเทศไทยได้ นอกจากนี้ความต้องการพลังงานชีวภาพที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เกิดการนำที่ดินสำหรับเพาะปลูกพืชอาหารเพื่อเพาะปลูกพืชพลังงานมากขึ้น

การสร้างฐานความมั่นคงทางอาหารมีแนวทางสำคัญ คือ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น การปฏิรูประบบสวัสดิการรองรับสังคมนอกภาคเกษตร การพัฒนาผลิตภาพภาคเกษตรโดยเฉพาะการทำการฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรกล การพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรและการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนการวางผังการใช้ที่ดินหรือจัดโซนที่ดินเพื่อวางแผนการผลิตอาหารให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และให้มีผลผลิตอาหารเพียงพอกับความต้องการ

ประการที่สอง ฐานโอกาสทางเศรษฐกิจ

การสร้างฐานโอกาสทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจยังมีการผูกขาดในบางภาคธุรกิจและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับการเมือง ขณะที่นโยบายรัฐบาลมุ่งให้ประชาชนพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐแทนการพึ่งพิงตัวเอง อาทิ การแจกสิ่งของ เงินทอง และอื่น ๆ เป็นต้น แนวทางการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอาจดำเนินการโดยการปฏิรูปทั้งโครงสร้าง นโยบาย และกฎหมายต่างๆ เพื่อให้มีระบบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสทำมาหากินและประสบความสำเร็จอย่างเท่าเทียมโดยขึ้นอยู่กับความสามารถของตนเอง

ประการที่สาม ฐานความปลอดภัย

ฐานความปลอดภัยของประชาชนครอบคลุมความปลอดภัยในทุกด้าน ทั้งการดำรงชีวิต การเดินทาง การประกอบอาชีพ รวมทั้งความปลอดภัยจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ประเทศไทยมีความไม่ปลอดภัยสูง เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีความเสี่ยงจากการละเมิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล ธุรกิจผิดกฎหมาย หรือแม้แต่จากผู้ถืออำนาจทางกฎหมายเอง สังคมไทยยังมีความเสี่ยงจากภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งสร้างความเกลียดชังและการก่อความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน รวมทั้งมีแนวโน้มภัยรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะภัยจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อสังคมออนไลน์

ประเทศไทยควรพัฒนาระบบการป้องกันภัยที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกด้าน ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่อาจเกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นจะต้องมีการปฏิรูปขบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย จัดการผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยปละละเลย หรือเลือกปฏิบัติ ตลอดจนสร้างสังคมพหุเอกานิยมเพื่อให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย

ประการที่สี่ ฐานความรู้

เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ และเป็นฐานที่ประเทศไทยมีความอ่อนแอมาก ภาคการผลิตและส่งออกของไทยเป็นการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นต้น ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือแบรนด์ของตนเอง สินค้าและบริการที่ผลิตโดยธุรกิจรายย่อยหรือชุมชนยังขาดความแตกต่างและสร้างสรรค์ แต่ส่วนใหญ่เป็นการลอกเลียนแบบต่อๆ กันมา

แนวทางการสร้างฐานความรู้ คือ การพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ เพื่อให้คนในประเทศรักการเรียนรู้ และมีกระบวนการจัดการความรู้ ได้แก่การสะสมความรู้ที่พัฒนาไปสู่การรวบรวมเป็นองค์ความรู้ และกระบวนการถ่ายทอดความรู้หรือองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาและการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนาประชาชนให้มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมที่คนในชาติมีความสนใจคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ

ประการที่ห้า ฐานคุณธรรม

สังคมที่มีฐานคุณธรรม คือ สังคมที่สมาชิกในสังคมมีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี ประชาชนมีความหวังดีต่อกันและกัน มีความเป็นเอกภาพ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน อำนาจและอิทธิพลไม่สามารถบีบบังคับและจูงใจประชาชนไปสู่การกระทำที่ไม่ถูกต้องได้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า คนจำนวนมากเลือกให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับตนมากกว่าส่วนรวม ประเทศจึงมีการคอร์รัปชันสูงขึ้น

ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมในสังคม โดยการส่งเสริมสื่อที่สร้างสรรค์คุณธรรม ยกย่องเชิดชูคนที่มีคุณธรรม และสนับสนุนให้คนที่มีคุณธรรมได้เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศ ตลอดจนสร้างระบบที่เปิดโอกาสให้คนทำดีได้ง่าย และคนที่ทำดีได้รับประโยชน์ ในขณะที่มีการทำชั่วยากมากขึ้นและมีโอกาสถูกลงโทษมากขึ้น เช่น การกำหนดให้นักเรียนนักศึกษาต้องทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การรับนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องพิจารณาจากประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมการทำความดีด้วย เป็นต้น

การสร้างฐานของความกินดีอยู่ดีทั้ง 5 องค์ประกอบนี้ ต้องมีความสอดคล้องกัน เพราะทุกองค์ประกอบมีความเกี่ยวโยงกันและส่งผลกระทบต่อกัน นอกจากนี้การวางรากฐานของประเทศในมิติอื่น ๆ ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือชุด ?ที่นี่อารยะ? โดยเฉพาะหนังสือ ?สยามอารยะ แมนนิเฟสโต้ :แถลงการณ์สยามอารยะ และ ชาวอารยะ : ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา?

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x490/cover/533947.jpeg